ดูแลภรรยาตอนท้อง
เรื่องน่ารู้ทั่วไป
10 วิธีดูภรรยาตอนท้อง เมียท้องสามีต้องไม่หนีเที่ยว มีส่วนร่วมหน่อยจะได้ไหม แม้คุณสามีจะไม่ได้ท้องเอง แต่ก็เป็นคนที่ทำให้ท้องนะ อย่าลืมเรื่องนี้ไปซะละคะ ดังนั้นแม้ลูกจะไม่ได้เติบโตอยู่ในตัวคุณ ก็จงดูแลบ้านที่ลูกอยู่ ณ ตอนนี้หรือดูแลคุณภรรยาให้ดี นั่นแหละสิ่งที่ควรทำละ
1.หมอนัด คุณพ่อต้องไปด้วย
เวลาที่คุณหมอนัดตรวจครรภ์ แม้คุณพ่อจะไม่ต้องไปด้วยก็ได้ แต่สิ่งที่ควรทำ คือต้องไปกับคุณแม่ด้วยทุกครั้งค่ะ แม้ว่าในกรณีที่คุณพ่ออาจจะหลีกตัวจากที่ทำงานมาไม่ได้ คุณแม่ก็สามารถเปลี่ยนเวลานัดเป็นช่วงคลินิกนอกเวลา หรือนัดที่คลินิกของคุณหมอแทนที่โรงพยาบาลแทนค่ะ
2.พัฒนาการลูกในครรภ์ คุณพ่อก็ควรจะรู้
ข้อดีของการตั้งครรภ์ในยุคนี้คือ แอพลิเคชั่นที่จะบอกว่าลูกในครรภ์ตอนนี้มีการพัฒนาการร่างกายอยู่ในช่วงใดแล้ว รวมถึงบางแอพยังส่งอีเมล์พัฒนาการให้ทุกสัปดาห์อีกด้วยค่ะ คุณแม่สามารถเล่าหรือแชร์ให้คุณพ่อฟังได้ ในกรณีที่คุณพ่อไม่ยอมอ่านหนังสือคู่มือการเลี้ยงเด็ก หรือจะให้คุณพ่อช่วยถ่ายรูปพัฒนาการร่างกายของคุณแม่ทุกสัปดาห์ก็ได้เช่นกัน
รายละเอียดต่างๆ รวมถึงขนาดตัวของลูก จะทำให้คุณพ่อรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับคุณแม่ไปด้วยค่ะ
3.ชวนคุณพ่อมาออกกำลังกายด้วยกัน
ข้อดีของการออกกำลังกายตอนท้องนั้นมีอยู่เพียบค่ะ นอกเหนือจากที่ทำให้คุณแม่ฟิตและเฟิร์มพร้อมสำหรับการคลอดลูกแล้ว ยังช่วงให้น้ำหนักไม่ขึ้นมากเกินไปด้วย การให้คุณพ่อมีส่วนร่วมในการออกกำลังกายของคุณแม่ ยังทำให้คุณแม่มีแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้นด้วย และยังช่วงสานสัมพันธ์ให้กับชีวิตคู่ด้วยนะคะ อย่างเช่น ว่ายน้ำด้วยกัน เล่นโยคะด้วยกัน หรือแม้กระทั่งการเดินเล่น ก็ทำได้ง่ายเช่นกันค่ะ
4.คุณพ่อสามารถร่วมตัดสินใจได้
แน่ละ คุณแม่อาจจะอินกับการท้องมากกว่าคุณพ่อ ทั้งการใช้เวลาอ่านหนังสือคู่มือดูแลตัวเอง การศึกษาหาข้อมูลต่างๆ คุณแม่อาจจะให้คุณพ่อมีส่วนตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้เช่น การซื้อเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ให้ลูก อย่าติหรือยี้ ออกนอกหน้า ถ้าคุณพ่อจะให้ลูกใส่เสื้อบอลตั้งแต่เด็ก หรือเสื้อซุปเปอร์ฮีโร่บ้าง การร่วมกันตัดสินใจ หรือปรึกษาหารือกัน จะทำให้คุณพ่อรู้สึกว่าความเห็นของเขามีค่าสำหรับคุณแม่และลูกค่ะ (แม้ว่าเรื่องใหญ่ๆ คุณแม่จะกุมอำนาจอยู่ก็ตาม)
5.คุณพ่อช่วยแต่งห้องลูกได้
ห้องของลูกควรจะเป็นห้องที่คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนร่วมในการตกแต่งด้วยกันได้ค่ะ อย่างน้อยก็ตอนที่ลูกยังเล็กอยู่ การเลือกสีทาห้อง วอลเปเปอร์ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ หรือแม้แต่ลงแรงในการประกอบ เคลื่อนย้ายสิ่งต่าง ๆ ในห้อง เพื่อรอรับการมาของเจ้าตัวเล็ก คุณพ่อก็จะมีความภูมิใจในระดับหนึ่ง ถือว่าคุณพ่อค่อนข้างมีส่วนร่วมแล้วละค่ะ
6.ให้คุณพ่อจัดงานรับขวัญลูก
ในเรื่องพวกนี้บางครั้งคุณแม่ก็ชอบที่จะจัดการค่ะ แต่คงน่าสนใจไม่น้อย ถ้าให้คุณพ่อลองเป็นคนจัดการดูบ้าง คุณแม่อาจจะคิดไม่ถึงก็ได้ว่างานรับขวัญลูกจะออกมาเป็นแบบไหน มีอะไรบ้าง ซึ่งบางทีมันก็เป็นเรื่องที่ดีที่น่าลองค่ะ
7.สานสัมพันธ์ให้คุณพ่อกับลูกในท้อง
คุณแม่อาจจะชินกับการอุ้มท้องไปไหนมาไหน รับรู้ทุกการกระทำของลูกในท้อง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะรู้สึกผูกพันธ์กับลูกในท้อง ง่ายกว่าคุณพ่อที่ไม่เคยได้รู้สึกหรือรับรู้ประสบการณ์ตรงเหล่านี้มาก่อนค่ะ
แต่คุณแม่ก็อาจจะช่วยสานสัมพันธ์เหล่านี้ได้ อย่างเช่น เวลาที่ลูกน้อยดิ้น ลองให้คุณพ่อมาแนบหูกับท้อง หรือเอามือมาจับท้องก็ได้ค่ะ ให้คุณพ่อลองพูดคุยกับลูกในท้องหรือแม้แต่ให้ร้องเพลงให้ลูกฟังดูก็ได้ค่ะ
8.คุณแม่ต้องใส่ใจกับชีวิตคู่มากขึ้น
คุณพ่อหลายคนรู้สึกเคว้งในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ อย่าลืมว่าผู้ชายบางคนคือเด็กวัยรุ่นในร่างกายผู้ใหญ่นี่เอง การที่อยู่ ๆ คุณแม่ก็ให้ความสนใจกับลูกในท้องมากกว่า แน่นอนว่าคุณพ่อย่อมที่จะมีอาการน้อยใจบ้าง (แต่อาจจะไม่พูดไม่บอกออกมา)
สิ่งที่คุณแม่ต้องทำคือ ไม่ลืมที่จะเติมความหวานให้ชีวิตคู่ของตัวเองบ้าง อย่างน้อย ๆ ให้คิดว่าหลังจากมีลูกอีกสองสามปี เรื่องเหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำอีกเลยก็เป็นได้ค่ะ ดังนั้นหากมีเวลาว่าง ให้รีบออกเดทบ่อย ๆ หรือรีบตักตวงในการทำอะไรที่อยากจะทำแค่สองคนให้มากให้บ่อยที่สุด ยกเว้นว่าเรื่องเซ็กซ์สุดเหวี่ยงจะเป็นอันตรายในช่วงไตรมาสแรกค่ะ
9.วางแผนการคลอดด้วยกัน
แม้มันจะเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องรับมือคนเดียว แต่คุณพ่อก็สามารถเป็นผู้สนับสนุนที่ดีด้วยได้ค่ะ เช่น หากคุณแม่เกิดปวดท้องคลอดแน่ๆ ในขณะที่ทำงานอยู่ และที่ทำงานของทั้งคู่ก็ไกลกันจะทำยังไง หรือเกิดคุณแม่จะคลอดในช่วงที่คุณพ่อติดภารกิจที่ต่างจังหวัดจะทำยังไง หรือแม้แต่คุณพ่อจะเข้าไปในห้องคลอดด้วยหรือไม่ คิดว่าจะไม่เป็นลมไหวไหม เป็นต้นค่ะ
10.เข้าคลาสเตรียมคลอดพร้อมกัน
การเรียนรู้ในเรื่องของการเตรียมคลอด การดูแลเด็กแรกเกิดนั้น สำคัญสำหรับคนเป็นว่าที่พ่อแม่ทุกคนค่ะ อย่างน้อยมันคือคู่มือช่วยเหลือเบื้องต้น ที่การันตีได้ประมาณหนึ่งว่า ลูกจะรอดแน่ๆ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำแบบนี้นั่นแหละ แม้แต่ในเรื่องของการให้นมแม่ ที่คุณพ่อก็ต้องรู้ข้อมูลและรายละเอียดไว้ เพื่อที่จะได้สนับสนุนการให้นมได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
ที่มา: https://th.theasianparent.com/