อาหารเด็กวัย 0–3 ขวบ
อาหารเด็กวัย 0–3 ขวบ

แผลฝีเย็บหลังคลอด ดูแลอย่างไรให้หายเร็ว ไม่ฉีก ไม่ติดเชื้อ

คุณแม่มือใหม่

แผลฝีเย็บหลังคลอด ดูแลอย่างไรให้หายเร็ว ไม่ฉีก ไม่ติดเชื้อ




หลังจากคลอดแล้ว คุณแม่หลายท่านมักจะมีอาการเจ็บปวดจากบาดแผลฝีเย็บ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการคลอดบริเวณทวารหนักถึงช่องคลอด ซึ่งการดูแลตัวเองหลังคลอดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้แผลหายเร็ว ไม่ติดเชื้อ มาติดตามกันว่า แผลฝีเย็บหลังคลอด จะดูแลอย่างไร ให้ถูกวิธี


-ทำความสะอาดแผลฝีเย็บหลังคลอดอย่างไร
หลังจากคลอดแล้ว คุณแม่ควรทำความสะอาดแผลฝีเย็บด้วยน้ำอุ่น โดยการเช็ดจากด้านอวัยวะเพศไปทางทวารหนัก ไม่เช็ดย้อนกลับ เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่แผลฝีเย็บได้


-การบรรเทาอาการปวดแผลฝีเย็บหลังคลอด
หากคุณแม่มีอาการปวดแผลฝีเย็บมาก ก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ และใช้การประคบเย็นเข้าช่วย เพราะความเย็นนั้นจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ครับ


-การดูแลน้ำคาวปลา
ในช่วงหลังคลอดนั้น จะมีน้ำคาวปลาออกมาทางช่องคลอด จึงควรใส่ผ้าอนามัยไว้ตลอด และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3 – 4 ชั่วโมง หรืออาจจะเปลี่ยนก่อนหน้านั้นก็ได้นะครับ เพราะหากหมักหมมไว้ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดก่อนเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกครั้งนะครับ


-อาบน้ำอย่างไร ถ้าเป็นแผลฝีเย็บหลังคลอด
คุณแม่หลังคลอด ต้องดูแลรักษาความสะอาดร่างกายเป็นพิเศษ โดยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ และควรทำความสะอาดบริเวณแผลฝีเย็บโดยการใช้น้ำไหลริน ห้ามใช้หัวฉีดล้างชำระ หรือใช้ฝักบัวโดยตรง เพราะแรงดันน้ำอาจทำให้บาดแผลฉีกขาดได้ และไม่ควรลงอาบน้ำในบ่อสาธารณะ เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปข้างในส่วนลึกของบาดแผลได้ และที่สำคัญควรซับแผลฝีเย็บหลังคลอดให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ


-เป็นแผลฝีเย็บ จะให้นมลูกอย่างไรดี
คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตามปกติแต่ไม่ควรนั่งขัดสมาธิ เพราะจะทำให้แผลแยกจากกันได้ โดยควรนั่งพับเพียบ หรือนั่งห้อยขาแทน



-เดินอย่างไร ไม่ให้เจ็บแผลฝีเย็บหลังคลอด
คุณแม่ควรเดินให้ขาแยกออกจากกันเล็กน้อย หากเดินหนีบแผลจะเสียดสีกัน เพราะบาดแผลนั้นจะอยู่ระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง และแผลจะเริ่มดีขึ้นหลังจากผ่านไปประมาณ 7 วันครับ
ตึงแผลฝีเย็บ อันตรายไหม หากเย็บด้วยไหมละลาย ต้องทำอย่างไร ติดตามหน้าต่อไปครับ>>


-ตึงแผลฝีเย็บ ปกติไหม
หากคุณแม่มีอาการตึงแผลฝีเย็บ นั่นถือเป็นเรื่องปกติครับ เพราะอาการตึงแผลแสดงว่าแผลนั้นเย็บดี ในทางตรงข้ามหากไม่ตึงอาจเกิดแผลแยกได้ โดยคุณแม่ควรต้องระวังกิจกรรมที่จะทำให้แผลแยกได้อย่างเช่น การยกของหนัก หรือการนั่งขัดสมาธิ เป็นต้น

-ข้อควรระวังหากเย็บแผลด้วยไหมละลาย
การเย็บแผลด้วยไหมละลายนั้นมีข้อดีคือสะดวกสบาย ไม่ต้องไปตัดไหม เพราะภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ไหมก็จะละลายหมดไปเอง แต่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ไฟด้วยการไม่นั่งกระดาน หรือการสัมผัสความร้อนโดยตรงนะครับ เพราะอาจทำให้ไหมละลายเร็วกว่าปกติจนทำให้แผลฝีเย็บหลังคลอดแยกได้

-อาการผิดปกติแบบไหนต้องรีบไปพบคุณหมอ
โดยปกติแล้ว แผลฝีเย็บหลังคลอดมักจะทำให้คุณแม่เกิดอาการเจ็บปวด แต่หากมีอาการเจ็บปวดมากๆ แผลบวมมากขึ้น และมีไข้ ก็แสดงว่าอาจจะมีอาการอักเสบและติดเชื้อได้ หากมีอาการดังกล่าวคุณแม่ควรรีบไปพบคุณหมอทันทีนะครับ

ที่มา:https://th.theasianparent.com/แผลฝีเย็บหลังคลอด-ทำอย่างไร?fbclid=IwAR3HBFJ9Qgsgrq8cPOfOTGJtPZNwiiiwvUYniR7ThXR0fnEMVtMoQFMJA9M

Milk Plus & More